“สามารถดิจิตอล” ยกระดับการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ของ สพฉ.

โดย nineFangKhaoW | 17 มีนาคม 2568 เมื่อ 23:37 น. | อ่าน 16

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เดินหน้ายกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศสู่ยุคดิจิทัล ผ่านความร่วมมือกับ บริษัท สามารถดิจิตอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มอบเครื่องวิทยุสื่อสาร Digital Trunked Radio System (DTRS) จำนวน 25 เครื่อง เพื่อใช้ในการทดลองและทดสอบระบบสื่อสารดิจิทัลสำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานและการเข้าถึงบริการฉุกเฉินของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

การสนับสนุนดังกล่าวเกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 17 ปี ของการก่อตั้ง สพฉ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ โดยระบบ DTRS จะถูกนำไปใช้เพื่อเสริมศักยภาพแพลตฟอร์ม iDEMS (Intelligence Digital Emergency Medical Services) ระบบดิจิทัลกลางของประเทศสำหรับบริหารจัดการข้อมูลและปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินแบบบูรณาการ

DTRS: นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการแพทย์ฉุกเฉินยุคใหม่

DTRS เป็นเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลที่ทันสมัย ช่วยให้การประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเป็นไปอย่าง แม่นยำ รวดเร็ว ปลอดภัย และครอบคลุม ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสามารถรองรับการติดต่อสื่อสารในรูปแบบ Group Call ทำให้สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เบื้องต้น DTRS จะถูกนำร่องใช้งานใน 5 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ ศูนย์นเรนทร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี, โรงพยาบาลปทุมธานี จ.ปทุมธานี และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จ.ระยอง

ระบบนี้สามารถทำงานร่วมกับโครงข่ายเดิมของ สพฉ. เช่น VHF และ UHF ได้อย่างราบรื่น ทำให้เกิดการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังรองรับการสื่อสารทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

DTRS กับอนาคตของระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย

ปัจจุบัน DTRS ได้รับการยอมรับและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเป็นโครงข่ายเดียวที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านสถานีแม่ข่ายกว่า 2,000 สถานี นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนพัฒนาให้รองรับ ระบบติดตาม (Tracking) และการบริหารจัดการทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ช่วยให้หน่วยปฏิบัติการสามารถเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว และลดอัตราการเสียชีวิตหรือภาวะทุพพลภาพของผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่นอกโรงพยาบาล

นายสุภวัส พรหมวิทักษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สามารถดิจิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “DTRS เป็นเทคโนโลยีที่สามารถสนับสนุนภารกิจของ สพฉ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความสามารถในการสื่อสารแบบเรียลไทม์ผ่านโครงข่ายดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้หน่วยปฏิบัติการสามารถตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ”

ด้วยนวัตกรรม DTRS และแพลตฟอร์ม iDEMS สพฉ. มุ่งมั่นพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยให้ก้าวหน้า พร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย

SAMART โกยรายได้รวมปี 67 กว่า 1 หมื่นลบ. เฉพาะไตรมาส 4 ทำกำไร 171 ลบ. วางเป้าปี 68 รายได้ 1.35 หมื่นลบ.
กลุ่มสามารถ ปักธง 2025 ปีแห่งการพลิกโฉมธุรกิจ ตั้งเป้ารายได้ 13,500 ล้านบาท โต 30% ชูธุรกิจไอซีที และการบินมาแรง

About Author

nineFangKhaoW

nineFangKhaoW

Partners