โรคใหม่สำหรับวัยรุ่น

โดย mchaw | 28 พฤษภาคม 2550 เมื่อ 12:08 น. | อ่าน 526
บทความจากคอลัมน์ M talk by mchaw นิตยสาร Mobile Mag ฉบับ Jan 2007

สวัสดีปีใหม่ 2007 คุณผู้อ่านทุกท่านครับ ก่อนอื่นขอเกริ่นที่มาที่ไปของคอลัมน์นี้กันสักเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ติดตาม Mobile Mag มาโดยตลอด คงจะสงสัยว่าคอลัมน์นี้ หายไปจาก Mobile Mag ปีกว่า จู่ๆก็กลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง จากผู้เขียนคนเดิม นาย mchaw  ซึ่งต่อแต่นี้ไป ก็คงจะมาประจำที่นี่ และ เขียนเรื่องราวที่มีทั้งสาระ และไม่สาระ ข้อคิด ความเห็นต่อความเป็นมาเป็นไป ในกระแส เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งในบางครั้งก็ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีใหม่ๆนั้นช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ในการใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่หากเราไม่สามารถแยกแยะความรับผิดชอบชั่วดีได้แล้วนั้น เทคโนโลยีก็เหมือนดาบ  2 คมที่อาจจะนำความเสียหาย เสื่อมเสีย มาสู่ตัวเรา และสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียวครับ


 


                   ตัวผมเองได้มีโอกาสอ่านข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของวัยรุ่นในสมัยนี้ ผลออกมาในด้านลบที่ก่อให้เกิดโรคทางสังคมใหม่ๆขึ้น 6 โรคด้วยกัน ดังนั้นผมก็ขออนุญาต นำมาเล่าสู่กันฟังและขยายความเห็นส่วนตัวให้ทราบว่ามีโรคอะไรบ้าง และ ใครที่กำลังใช้งานอยู่ลองสังเกต ตัวเองหรือคนรอบข้างสักนิดว่า เรากำลังเป็นโรคใดอยู่บ้าง จะได้ทำการปรับปรุงตัว หรือเตือนคนข้างกายให้เขาได้ลองพิจารณาแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆครับ


 


                โรคแรกคือโรคเห่อตามแฟชั่น ต้องยอมรับว่ากระแสวัตถุนิยมที่หลั่งไหลมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้าเทคโนโลยีของค่ายมือถือ จำเป็นที่จะต้องแข่งขันกันออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า รวมทั้งพยายามดูดเงินในกระเป๋าลูกค้าให้มากที่สุด จากเมื่อก่อนที่มือถือของแต่ละค่าย รุ่นหนึ่งกว่าจะออกมาใหม่ใช้เวลาเป็นปี ซึ่งก็จะออกเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องแฟชั่นมากนัก เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นเดือนหนึ่งบางทีออกรวดเดียว 5 รุ่น พอคู่แข่งออก อีกค่ายก็ต้องออกตามมาเป็นพรวน มีทั้งค่ายยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา จีน แม้กระทั่งค่ายของไทยเราเองก็มี ทำให้เดี๋ยวนี้ โทรศัพท์มือถือที่เปิดตัวออกมาปีละหลายร้อยรุ่น แม้กระทั่งคนในวงการเอง บางทีพอบอกแต่ชื่อรุ่นมา ก็ยังนึกไม่ออกต้องกลับไปเปิดข้อมูลดูก่อนจึงจะถึงบางอ้อน่ะครับ   และด้วยโรคเห่อตามแฟชั่นนี้ กลุ่มที่เป็นโรคนี้ก็มักจะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วด้วยวัตถุประสงค์คือ ต้องนำสมัยเพื่อเป็นเครื่องประดับอวดเพื่อน  หรือหากซื้อเครื่องใหม่มาแล้วไม่พอใจก็เปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เสียดายเงินที่จะต้องเสียไป  จนบางครั้งลืมที่จะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจ  เพยงเพราะจะสามารถนำไปบอกเพื่อนๆได้ว่า ฉันมีเครื่องรุ่นนี้ก่อนคนอื่น ใหม่ล่าสุด อินเทรนด์ที่สุด ประมาณนี้ครับ ไม่เพียงแต่โทรศัพท์มือถือเท่านั้น ผมว่าน่าจะรวมสินค้าแฟชั่นอื่นๆด้วยไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือสินค้าประเภทอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดโรคที่สองตามมา


 


                โรคที่สอง คือโรค ทรัพย์จาง  เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเงินส่วนตัวที่หมุนไม่ทัน และส่วนใหญ่ก็จะเป็นกับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนเป็นจำนวนที่จำกัดตายตัว แต่ด้วยความเห่อแฟชั่น เดี๋ยวนี้ ร้านค้าก็มีให้ผ่อนกัน 6 เดือน 12 เดือน ทำให้ไม่ต้องควักเงินก้อน บางทีผ่อนตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ยังไม่ทันหมด ก็เปลี่ยนเครื่องใหม่อีกแล้ว ไปมีภาระผ่อนเพิ่มเติมอีกและแน่นอนว่าด้วยภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน แต่รายได้เท่าเดิม แต่ไปเพิ่มภาระตัวเองในการซื้อของตามความทันสมัย ก็ส่งผลให้ขาดความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงิน มีหนี้สิน จนหลายคนอาจต้องเลือกเดินทางที่ไม่ถูกต้องเพื่อหารายได้เพิ่มเติมในส่วนที่ใช้จ่ายไม่พอ ซึ่งเราก็จะได้ยินอยู่เสมอว่า น้องๆผู้หญิงหลายคนรับจ็อบ  หรือหารายได้ด้วยการขายบริการ หรือเลยเถิดไปจนถึงการขายยาเสพติด ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมาไม่หยุดหย่อน หรือบางทีก็ได้ยินว่ามีการฉกชิงวิ่งราว ลักขโมย ก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่จบครับ ทั้งนี้โรคทรัพย์จางจากโทรศัพท์มือถือยังรวมไปถึงการโทรที่พร่ำเพรื่อ จนหลายคนต้องจ่ายค่าโทรเดือนละหลายพัน ทั้งๆที่ยังหาเงินเองไม่ได้


 


                โรคที่สามคือ โรคขาดความอดทน และใจร้อน  เคยคิดกันไหมครับว่า เมื่อสมัยก่อน ที่เราใช้โทรศัพท์บ้าน และยังไม่มีโทรศัพท์มือถือนั้น เวลาที่เราไปคอยเพื่อนโดยโทรนัดกันเมื่อวาน วันนี้ไปคอยที่นัด หากเพื่อนยังไม่มา เราก็รอบางครั้ง เลยเวลากว่า 30 นาที เราก็ยังคงนั่งรอได้ หรือย่างมากหากเลยเวลาเป็นชั่วโมงก็โทรไปที่บ้านเพื่อนถามกับคนที่บ้านว่าเพื่อนเราออกมานานหรือยัง แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ หากใครไปถึงก่อนเวลา ก็จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรเช็คเพื่อนทันทีว่า ออกจากบ้านหรือยัง หรือกำลังอยู่ที่ไหน บางทีเพื่อนมาช้าไปนิดเดียว ก็ไม่รอ ให้ตามไปยังที่อื่นที่กำลังจะไป โดยให้โทรหากันเมื่อมาถึง หรือบางครั้งเพียงแค่เดินไปเข้าห้องน้ำก็ยังต้องโทรตามกัน ยิ่งหากวันไหน โทรไปแล้วเพื่อนรับสายช้า ก็จะหงุดหงิด ซึ่งนับได้ว่าโรคนี้ทำให้คนใจร้อน รอไม่เป็น อาจเรียกได้ว่าสมาธิสั้นกลายๆครับ


 


                โรคที่สี่คือ โรคขาดกาลเทศะและไร้มารยาท  อันนี้เชื่อว่าพบเห็นได้บ่อยมากๆ ลองนึกดูนะครับ เวลาเรากังนั่งชมภาพยนตร์อย่างมีอรรถรส จู่ๆก็มีเสียงโทรศัพท์คนข้างๆ ดังขึ้นมา เราใช้สายตาชำเลือง ดูว่าเขาจะรีบตัดสายหรือไม่ กลายเป็นว่าเขาหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสาย และคุยเสียอีก ทั้งๆที่ก่อนภาพยนตร์ฉายก็มีการเตือนกันบนจอว่า กรุณาปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด แต่ก็ยังไม่วายรับสายเสียจนได้  หรืออย่างในลิฟท์ซึ่งปกติแล้วสัญญาณอาจจะขาดหายไปบ้าง ก็ยังพยายามคุยให้อีกฝ่ายได้ยิน อาจใช้เสียงที่ดังขึ้นอีก หรือในห้องเรียน หรือห้องประชุมก็เช่นกัน ไม่เหมาะสมที่จะใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็น  หรือหากจำเป็นจริงๆก็น่าจะออกไปคุยนอกห้องครับ 


 


                โรคที่ห้าคือ โรคขาดมนุษยสัมพันธ์  จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเวลาที่เราคุยโทรศัพท์ติดพัน และก็จะไปปลีกวิเวกเช่นในห้องนอน  หรือในห้องน้ำ เชื่อว่ามีจริงๆนะครับ นั่งส้วมไป โทรศัพท์ไปด้วยเนี่ย ยังโชคดีที่เทคโนโลยียังพัฒนาให้สื่อสารไปได้แค่เสียง หากสื่อกลิ่นได้ด้วยละก็ตัวใครตัวมัน คู่สนทนาอาจรีบๆวางไปเลยก็ได้ครับ หลายคนคุยโทรศัพท์ทีละ หลายชั่วโมง เล่นเอาข้าวปลาไม่กิน  เวลานอนไม่นอน  ทั้งๆที่บางครั้งก็เพิ่งกลับจากโรงเรียน หรือมหาลัย ที่เพิ่งเจอกันหยกๆ และรุ่งขึ้นก็ต้องไปเจอกันอีกแท้ๆ เมื่อเราเสียเวลาในการโทรนานๆ ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่นพ่อ แม่ พี่น้อง ก็เหินห่างไป  ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ครับ


 


                โรคสุดท้าย คือโรคไม่จริงใจ  เกิดได้เมื่อเราได้คุยโทรศัพท์กับคู่สนทนา และด้วยความที่ไม่เห็นหน้ากัน อย่างโบราณว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เมื่อไม่เห็นดวงตา ทั้งเราและคู่สนทนาอาจกำลังพูดไม่จริงอยู่ในบางเรื่องโดยที่ไม่รู้สึกกระดาก  ซึ่งโดยปกติหากคนเราพูดโกหกต่อหน้าใครแล้ว เรามักจะหลบสายตาหรือมองไปทางอื่น แต่เมื่อได้ยินแต่เสียงเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเขาพูดจริงอยู่แค่ไหนได้เลยครับ ยิ่งใครที่แฟนมีกิ๊กหลายๆคนละก็ การโทรตามนั้น อาจทำให้แฟนเราโกหกเรามากและบ่อยขึ้นก็เป็นได้ครับ


 


                ทั้งหกโรคข้างต้น ที่ได้กล่าวถึงนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่เราสามารถจะปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยตัวเองทั้งนั้น ดังนั้นหากใครที่รู้ตัวว่าเป็นโรคใดอยู่ ก็ลองหาวิธีแก้ไขปรับปรุง อาจไม่ต้องถึงกับหักดิบว่าฉันจะไม่ใช้โทรศัพท์มือถือเลย แต่ให้ลดลงเรื่อยๆทีละน้อย เพื่อช่วยให้ตัวเราและสังคมดียิ่งขึ้นก็น่ายินดีแล้วครับ เอาละครับ ฉบับนี้ต้องลากันไปก่อน ท้ายนี้ก็ขออวยพรปีใหม่ให้กับคุณผู้อ่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ และร่ำรวยยิ่งๆขึ้นไปครับ  ขอบุญรักษาคุณผู้อ่านครับ/ mchaw

About Author

mchaw

mchaw

Partners