หลังจากพรีวิวตัวเครื่อง Sony Xperia Z2 กันแบบชัดๆ ทุกซอกทุกมุมไปแล้ว วันนี้เราจะมาลองเล่นกล้อง 20.7 ล้านพิกเซล Exmor RS ของ Z2 กันอีกครั้งแบบจัดเต็มกว่าเดิม เพราะต้องบอกว่าฟีเจอร์ด้านกล้องของรุ่นนี้ถือว่าเยอะมาก มีทุกแบบทุกสไตล์ วันนี้เราจะมาลองของกันครับ
แรกพบลองจับกล้องของ Sony Xperia Z2 ครั้งแรกก็ประทับใจ เพราะกล้องมันเคลื่อนไหวเร็ว ภาพดูสมูทมาก ตัวกล้อง 20.7 ล้านพิกเซล มีแฟลชอีกดวง โดยกล้องหน้านั้น 2.2 ล้านพิกเซล ถ่ายวิดีโอได้ขนาด Full HD ด้วย แต่กล้องหลังน่ะ 4K ครับ เพียงแต่ว่าเรื่องของความร้อนยังเป็นปัญหา บางทีไม่ได้ถ่ายวิดีโอ แค่ภาพนิ่งเปิดกล้องนานๆ 3-5 นาทีก็ร้อนเด้งออกแล้ว นี่เป็นปัญหาหลักๆ ที่เจอเลยครับ
สเปคเครื่อง
- หน้าจอ TRILUMINOS™ 5.2″ ความละเอียด 1080 x 1920 พิกเซล
- กันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP58
- หน่วยประมวลผล Snapdragon 801 – Quad-core 2.3 GHz Krait 400
- Android 4.4.2 KitKat
- ROM 16GB, RAM 3GB (รองรับ MicroSD สูงสุด 128GB)
- กล้องหลัง 20.7 MP Exmor RS, ถ่ายวิดีโอ 4K
- กล้องหน้า 2.2 MP, ถ่ายวิดีโอ Full HD
- รองรับ 4G LTE (Cat4)
- รองรับ NFC, USB OTG, WiFi Direct
- แบตเตอรี่ Li-Ion 3200 mA
ลองเปิดกล้องมาแล้วเคลื่อนไหวค่อนข้างไว และตัวซอฟท์แวร์ก็ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานทั่วไปด้วยโหมด Superior auto ที่จัดการเลือกโหมดที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยอัตโนมัติครับ ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่อยากยุ่งยากกับโหมดต่างๆ ที่ดูซับซ้อนก็สามารถถ่ายภาพสวยๆ ได้ด้วยโหมดฉลาดๆ นี้ล่ะ
ตัวเลนส์กล้องนั้นมีความละเอียดสูงถึง 20.7 ล้านพิกเซล แต่ในแง่การใช้งานทั่วไปขนาด 8 ล้านพิกเซลน่าจะเหมาะสม ซึ่งตัวกล้องจะปรับเป็นค่ามาตรฐานให้ ยิ่งใช้โหมด Superior auto ก็จะถ่ายเป็นขนาดแค่ 8 ล้านพิกเซลครับ ภาพจะมีขนาด 3840 x 2160 พิกเซล ที่เป็นอัตราส่วน 16:9 หากเลือกถ่าย Manual เป็น 20.7 ล้านจะเป็น 4:3 ครับ
สำหรับฟีเจอร์ของกล้องค่อนข้างจัดมาให้เต็มๆ มีให้เลือกเยอะมากจนเลือกไม่ถูกนอกจาก Superior auto หรือ Manual แล้วหลักๆ ที่น่าสนใจก็จะมี Backgroud defocus, AR effect, Timeshift brust และ Sweep panorama โดยก็ยังมีเอฟเฟ็คต์ภาพให้เลือกถ่ายจาก Creative effect ด้วย อีกตัวที่น่าจะมีประโยชน์บ้างก็เป็น Info-eye ครับ
อินเตอร์เฟซกล้องนั้นจะใช้ถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอแบบเดียวกัน จะกดถ่ายภาพปกติ หรือถ่ายวิดีโอก็ได้มีปุ่มชัตเตอร์ในอินเตอร์เฟซบนแถบด้านขวา พร้อมอัลบั้มภาพ และปุ่มปรับโหมดถ่ายภาพ แต่ Xperia Z2 นั้นยังมีปุ่มฮาร์ดแวร์ชัตเตอร์ให้ใช้ด้วยนะครับ ส่วนแถบเมนูฝั่งซ้ายจะมีตัว Settings, สลับกล้อง และโหมดแฟลช
ว่าด้วยเรื่องโหมดของแฟลชนั้นมีทั้ง อัตโนมัติ (Auto), เปิดแฟลช (Fill flash), ลดตาแดง (Red-eye reduction), ปิดแฟลช (Off) และ เปิดแฟลชแบบไฟฉาย (Flashlight) ซึ่งลักษณะการเปิดแฟลชแบบ Fill flash กับ Flashlight นั้นจะให้แสงที่แตกต่างกันครับ แบบปกติจะวาบกับวัตถุแสงจ้าหากถ่ายระยะใกล้ แต่ Flashlight จะให้แสงที่พอเหมาะกว่า เพราะตัวกล้องได้ปรับสภาพแสงตามแฟลชแล้วนั่นเองครับ เหมาะถ่ายระยะใกล้
ว่าแล้วก็ลองถ่ายภาพเลย โหมด Superior auto คงรู้อยู่แล้วว่ามันปรับให้อัตโนมัติทุกอย่าง แค่กดถ่ายก็พอ ปรับแตะโฟกัสนิดหน่อยนะครับ แต่โหมด Manual เราจะสามารถปรับค่าชดเชยแสง หรือไวท์บาลานซ์ต่างๆ ได้เอง รวมถึงพวกเอฟเฟ็คต์สีภาพด้วย ในโหมดถ่ายวิดีโอก็เช่นกันครับ
ต้องยอมรับว่าโหมด Superior auto ค่อนข้างฉลาด และถ่ายภาพออกมาได้มีคุณภาพอย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว เพียงแต่ว่าจะถ่ายได้แค่ขนาด 8 ล้านพิกเซลเท่านั้นครับ
ขอลองทีเด็ดก่อนแล้วกัน Background defocus เป็นอย่างไร เปิดมาระบบก็จะให้เราเลือกจุดที่ต้องการโฟกัส ซึ่งมันจะแนะนำให้โฟกัสที่ Object และให้วิวข้างหลังหรือ Object ต่างๆ ควรห่างออกไปสัก 6 ฟุตครับ ระบบจะประมวลผลได้ดี ซึ่งเมื่อใช้งานได้ก็จะสามารถปรับระดับความเบลอ และรูปแบบการเบลอได้ด้วย
ภาพที่ออกมาบอกตรงๆ ว่าชอบ ปรับให้พอเหมาะพอดีมันดูสวยงามเลยทีเดียวครับ
ต่อมาขอแนะนำโหมดสำหรับคุณหนูๆ ทั้งหลายกับ AR effect ที่ใส่เอฟเฟ็คต์สภาพแวดล้อมพร้อมตัวละครประกอบอีกนิดหน่อยได้… เช่นไดโนเสา เราก็มโนเอาได้ว่าถ่ายคู่กับไดโนเสาในป่าลึกครับ สามารถเลือกเอฟเฟ็คต์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้
Info-eye อันนี้เอาไว้ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะ มันสามารถหาข้อมูล Landmarks, อ่านข้อความ, บาร์โค้ด, QR code หรือแม้แต่นามบัตรก็อ่านได้ด้วยกล้อง แล้วบันทึกลงสมุดรายชื่อได้เลยด้วย เจ๋งดีครับ
นอกจากนี้ก็ยังมี Creative effect ให้ถ่ายภาพพร้อมเอฟเฟ็คต์ต่างๆ รวมถึง Timeshift brust ที่เป็นโหมดแบบ Best shot ถ่ายแบบต่อเนื่องหลายช็อตแล้วค้นหาภาพที่ดีที่สุดนั่นเอง
ส่วนโหมด Panorama ยังไม่ค่อยโดนเท่าไหร่ มันต้องปรับแนวเอียงเอาเอง ไม่มีเซ็นเซอร์ช่วยเหลือครับ และตัวภาพก็มีความละเอียดได้แค่ 5 ล้านพิกเซลเท่านั้น
สุดท้ายเรามาว่ากันด้วยเรื่องของวิดีโอบ้าง ตัวเครื่องสามารถถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K ครับ หรือ 3840 x 2160 พิกเซล ขณะบันทึกวิดีโอนั้นเราสามารถเปิดแฟลชถ่ายไปพร้อมๆ กันได้ด้วย โดยมีโหมด Manual ให้ปรับแต่งเองได้เช่นกันครับ
สำหรับ Sony Xperia Z2 นั้นยังสามารถถ่ายแบบ Full HD ที่ความเร็ว 120 fps หรือ Slow motion ได้ในโหมด Timeshift video นั่นเอง ซึ่งการถ่ายแบบ Timeshift video เราจะได้ทั้งไฟล์วิดีโอแบบ 120fps และวิดีโอ Slow motion โดยเมื่อถ่ายเสร็จจะสามารถปรับช่วงเวลาที่ต้องการให้ Slow motion ได้ครับ จริงๆ เราสามารถเอาวิดีโอ 120fps ที่ถ่ายมาใช้ซอฟท์แวร์ในเครื่องแต่งเป็น Slow motion เอาก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่างวิดีโอจากกล้องของ Sony Xperia Z2
สรุปแล้วคุณภาพกล้องของ Sony Xperia Z2 ตัวนี้จัดว่าดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะในโหมด Superior auto นั้นทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม เพียงแต่ยังไม่ค่อยแตกต่างจากกล้องบน Xperia Z1 เท่าไหร่ ตัว Background defocus นั้นหาก Xperia สมาร์ทโฟนรุ่นไหนรองรับ Android 4.3 ขึ้นก็สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้เช่นกัน
ที่ต้องการจะติจริงๆ ก็คือเรื่องความร้อนของตัวเครื่องแล้วกล้องเด้งนี่แหละ ถ่ายภาพได้ไม่นาน ถ่ายวิดีโอยยิ่งได้แปปเดียวเด้งหลุดหงุดหงิดต้องรอเครื่องเย็นบ่อยครั้งครับ บางทีก็จุ่มน้ำซะเลย!! T T อีกจุดก็คือโหมด Superior auto นั้นปรับความละเอียดไม่ได้ ต้อง 8 ล้านพิกเซลเท่านั้น แต่ทว่าการถ่ายภาพในขนาด 20.7 ล้านพิกเซล คุณภาพก็ยังไม่ดีเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะถ่ายแสงน้อยนอยซ์ลึ่ม!! ส่วนอื่นๆ ลงชื่อว่าใช้แล้วชอบครับ ^^